ที่ดินทหาร มั่นคง (เพื่อ) ชาติ ? หรือ มั่งคั่ง (เพื่อ) ใคร ?

วันที่ 3 – 4 เมษายน พ.ศ. 2567 ณ อาคารรัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฏรครั้งที่ 32 ในญัตติการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญ (ม.152) มีการอภิปรายนโยบายจากฝั่งของฝ่ายค้านอย่างดุเดือด ตลอดทั้ง 2 วันที่ผ่านมา โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงกลาโหม ซึ่งนำโดย นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล ที่ออกมากล่าวถึง การใช้ประโยชน์ในที่ดินที่ราชพัสดุของกระทรวงกลาโหมที่มากถึง 6.25 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 43 ของพื้นที่ราชพัสดุทั้งหมด โดยส่วนหนึ่งเป็นการขอใช้ประโยชน์หรือเช่าจากหน่วยงานภายนอก โดยที่ดินจำนวนมากไม่ได้ถูกนำไปใช้งานอย่างเต็มประสิทธิภาพ ถูกทิ้งปล่อยร้างว่างเปล่า และที่ดินบางส่วนถูกนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ในลักษณะสวัสดิการ ทั้งสนามกอล์ฟ บ้านพักตากอากาศ สนามมวย โดยขาดความโปร่งใสและการได้รับการตรวจสอบ ในขณะเดียวกัน เกษตรกรภายในประเทศจำนวนมากไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง การใช้ประโยชน์ในที่ดินที่ราชพัสดุของกองทัพไทย จึงเป็นเหมือนดินแดนปริศนาที่ไม่มีใครล่วงรู้ข้อมูลเบื้องลึกได้ว่ามีกิจกรรมใดเกิดขึ้นในที่ดินทหารบ้าง Land Watch Thai จึงอยากเชิญชวนทุกท่าน รับทราบข้อมูลเชิงลึกในการใช้ที่ดินของทหารแต่ละเหล่าทัพ เพื่อช่วยกันตอบคำถามสำคัญว่า การถือครองที่ดินของทหาร มั่นคง (เพื่อ) ชาติ หรือ มั่งคั่ง (เพื่อ) ใคร ?

ที่ดินที่อยู่ในเขตของทหารและที่ดินในเขตนโยบายความมั่นคงนั้นจัดเป็นที่ดินของรัฐประเภทหนึ่ง โดยจัดอยู่ในประเภทของที่ราชพัสดุ อยู่ในความดูแลของกรมธนารักษ์

จำนวนที่ดินของกรมธนารักษ์มีพื้นที่ 12.51 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 3.83 ของพื้นที่ประเทศไทย โดยที่ดินในเขตทหาร(กระทรวงกลาโหม) นั้นคิดเป็นพื้นที่ 4,597,922 ไร่ หรือร้อยละ 43 ของพื้นที่ราชพัสดุทั้งหมดและอีกส่วนหนึ่งเป็นการขอใช้ประโยชน์หรือเช่าจากหน่วยงานภายนอก ถือเป็นจำนวนมหาศาลเมื่อเปรียบเทียบกับหน่วยงานรัฐ หน่วยงานอื่นๆ เช่น เปรียบเทียบกับการรถไฟแห่งประเทศไทยได้ การรถไฟฯมีกรรมสิทธิ์ที่ดินราวๆ 230,000 ไร่ เมื่อเปรียบเทียบกับที่ดินในครอบครองทั้งหมดของกองทัพบกแล้วการรถไฟฯมีที่ดินไม่ถึง 1 ใน 20 หรือ 5% ของกองทัพบก มีรายละเอียดแต่ละกองทัพดังต่อไปนี้

กองทัพบก ที่ดินในครอบครองของกองทัพบก มีเนื้อที่ 4,424,240 ไร่ แบ่งเป็น ที่ราชพัสดุ 3,777,286 ไร่ (85%) ที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ 565,527 ไร่ ) และอื่นๆ ประมาณ 81,427 ไร่ โดยมีพื้นที่มีปัญหาขัดแย้งกับราษฎรราว 298,680 ราย รวมเนื้อที่ประมาณ 1,370,187 ไร่

กองทัพเรือ เนื้อที่ประมาณ 273,709 ไร่ แบ่งเป็นที่ราชพัสดุ 201,430 ไร่ ขอใช้หน่วยงานอื่นๆ กระทรวง มหาดไทย 5,652-1-65.37 ไร่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 65,614ไร่ กระทรวงการคลัง 235ไร่ กรมป่าไม้ 239ไร่ และขอใช้หน่วยงานอื่นๆประมาณ อื่น ๆ 412 ไร่ พื้นที่มีปัญหาขัดแย้งกับราษฎรประมาณ 6,600 ไร่

กองทัพอากาศ เนื้อที่ประมาณ 229,691 ไร่ แบ่งเป็นที่ดินราชพัสดุ 188,118 ไร่ ขอใช้จากหน่วยงานอื่นๆ เนื้อที่ประมาณ 41,573 ไร่ (จากกรมป่าไม้ 8,660 ไร่) พื้นที่ขัดแย้ง 3 จุด 1. อ่างเก็บน้ำบ้านจั่น จังหวัดอุดรธานี 2. สนามบินวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว 3. สนามบินบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี ไม่มีรายงานจำนวนขนาดพื้นที่

จำนวนที่ดินที่อยู่ในการครอบครองของทหารที่มีจำนวนมาก โดยอ้างความจำเป็นของกองทัพในการใช้ที่ดิน ได้สร้างผลกระทบไปยังประชาชนในหลายภาคส่วนที่ถูกจำกัดสิทธิในการเข้าถึงที่ดิน

โดยเฉพาะพื้นที่ชายแดนที่กองทัพมักใช้เหตุผลทางด้านความมั่นคงในการจัดการการใช้ที่ดินของประชาชนตามแนวเขตชายแดน ยกตัวอย่างในพื้นที่ ชุมชนป่าไร่ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ชุมชนป่าไร่มีหลักฐานการเข้ามาอยู่ในพื้นที่ตั้งแต่ปี พ.ศ.2499 ที่ต่อมาในปี พ.ศ.2532 กองทัพบกกองทัพบก ได้ขอใช้พื้นที่จาก กรมป่าไม้และได้จัดตั้งเป็นพื้นที่หมู่บ้านเสริมความมั่นคงตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชาจนกระทั่ง จนกระทั่งปี พ.ศ.2562 กองทัพบกได้สิ้นสุดสัญญาในการขอใช้พื้นที่จากกรมป่าไม้ ชาวบ้านพื้นที่ ม.5 , ม.8 และ ม.9 ได้มีการจัดประชุมประชาคมชาวบ้าน ผลคือ “ชาวบ้านไม่ยินยอมให้กองทัพบกเข้าใช้พื้นที่ต่อ”

ถึงแม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงของคณะรัฐบาลผ่านการเลือกตั้ง เป็น รัฐบาลเศรษฐา แล้ว ในช่วงปี พ.ศ.2566 รัฐบาลได้จัดให้มีโครงการนำที่ดินของกองทัพมาให้ประชาชนใช้ประโยชน์ โดยตั้งชื่อว่า “โครงการรัฐเอื้อราษฎร์” หรือที่รู้จักกันในชื่อ “หนองวัวซอโมเดล” ให้กับประชาชนชาวอุดรธานี เนื้อที่กว่า 10,000 ไร่ โดยเป็นการมอบสัญญาเช่าที่ราชพัสดุให้กับผู้เช่าที่ราชพัสดุ แต่โครงการนี้ยิ่งตอกย้ำ สิทธิ สถานะของประชาชนที่มีต่อที่ดินของรัฐ เพราะถึงแม้จะมีประชาชนกล่าวอ้างการใช้ประโยชน์ในที่ดินก่อนจะมีการประกาศเป็นที่ดินที่ราชพัสดุ แต่ก็ถูกทำให้เป็นเพียงผู้เช่าที่ดินกับกองทัพ และอีกทั้ง โครงการหนองวัวซอโมเดล ไม่ใช่โครงการใหม่ที่เพิ่งผุดขึ้นมาในรัฐบาลชุดนี้ แต่เป็นโครงการที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 ซึ่งการมาของโครงการนี้ ได้ทำให้ขั้นตอนในการพิสูจน์สิทธิในที่ดินของประชาชนที่ครอบครองมาก่อน ไม่มีความหมายใด และบีบให้ประชาชนมาเช่าที่ดินที่เคยเป็นของตนเอง

​การถือครองที่ดินของทหารไว้ครอบครองจำนวนมากโดยอ้างเหตุผลทางความมั่นคง ในสถานการณ์ปัจจุบันอาจไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของสังคม ด้วยสถานการณ์ในพื้นที่ที่เปลี่ยนแปลงไป พื้นที่ที่เคยเป็นพื้นที่การรบกับถูกเปลี่ยนเป็นพื้นที่การค้า การครอบครองที่ดินของทหารในลักษณะนี้ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิ์ในที่ดินได้อย่างเต็มศักยภาพ

.

ปัญหาที่ดินทหารจึงเป็นอีกปัญหาที่สำคัญที่ว่าเหตุผล “ความมั่นคง” ที่ทหารมักใช้กล่าวอ้างในการใช้ที่ดินเป็นความมั่นคงแบบไหน ? เพราะเราเชื่อว่า “ความมั่นคงในสิทธิที่ดินของประชาชนคือสิทธิมั่นคงของชาติ” อย่างแท้จริง.

ที่มา:

กรมส่งกำลังบำรุงทหารบก เอกสารนำเสนอ “การใช้ประโยชน์ที่ดินในส่วนราชการ (สวัสดิการ)” : http://dlogs.rta.mi.th/index.php?option=com_content&view=article&id=831:-3112-&catid=105:2010-02-12-02-57-06

กรมส่งกำลังบำรุงทหารบก เอกสารการประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการที่ดิน 23 ก.พ.60 ใน “หน.ผทด.ยย.ทบ. นำเสนอ.pptx” : http://dlogs.rta.mi.th/857-23-60#

แนวทางการดำเนินคดีกับผู้บุกรุกที่ดินซึ่งอยู่ในความครอบครองดูแลและใช้ประโยชน์ของกองทัพบก : http://dlogs.rta.mi.th/wives/download/manual1.pdf

นายก นำร่อง “หนองวัวซอโมเดล” มอบที่ดินกว่าหมื่นไร่ ให้คนอุดรฯ เช่า

https://www.thairath.co.th/news/politic/2764395

ทุนกองทัพไทย(3):ที่ดินกองทัพบก https://prachatai.com/journal/2015/06/5956