การเปลี่ยนแปลงด้านที่ดินในสมัยรัชกาลที่ 5

การเปลี่ยนแปลงที่ดินในสมัย รัชกาลที่ 5

เนื่องในวันปิยะมหาราช ทีมงาน Land Watch Thai จึงเชิญชวนผู้อ่านทุกท่านย้อนรำลึกถึงเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงระบอบสิทธิในที่ดิน ที่สำคัญ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นรากฐานของระบอบสิทธิปัจเจกที่ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
.
1. การเปลี่ยนที่ดินให้เป็นทุน(turning land to capital)ด้วยการออกโฉนดที่ดินฉบับแรกของประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ ๕
.
จากบทความ เจ้าของ “โฉนดที่ดิน” ฉบับแรกของไทย กับจุดเริ่มต้นการทำแผนที่และโฉนดแบบใหม่ โดย มัณฑนา ชอุ่มผล ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับ มกราคม 2546 ได้กล่าวถึงจุดเริ่มต้นในการออกโฉนดที่ดินแบบใหม่ ที่มีผลมาจากยุคการล่าอาณานิคม ประเทศเพื่อนบ้านโดยรอบประเทศต่างถูกยึดครองทั้งพม่าที่ถูกยึดครองโดยอังกฤษ และฝรั่งเศสเองก็มีความสนใจในการดินแดนของประเทศไทยทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงเล็งเห็นความสำคัญของการกำหนดแนวเขตดินแดนของประเทศที่มีความแน่นอน เพื่อป้องกันประเทศมหาอำนาจรุกล้ำและยึดดินแดนได้ เป็นที่มาของการทำแผนที่ ที่เกี่ยวข้องกับการออกโฉนด ในปี พ.ศ. 2435 ต่อมาหลังจากนั้น มีการออกกฎหมายและโฉนดที่ดินฉบับแรกในปี พ.ศ. 2444 โดยก่อนหน้านั้นใบสำคัญในการครอบครองที่ดิน มีหลายรูปแบบได้แก่ โฉนดตราแดง โฉนดตราจอง ใบเหยียบย่ำ โฉนดสวน(ไม้ล้มลุก) และโฉนดป่า(ไม้ยืนต้น) แต่ในโฉนดแบบใหม่ จะมีเจ้าหน้าที่ออกวัดพื้นที่ โดยกำหนดเขตเป็นตารางเรียกว่า “แผนที่ระวาง” โดยให้เจ้าของที่ดินมาชี้เขตที่ดิน โดยข้าหลวงเกษตรจะมาปักหลักที่ดินและออกเป็นโฉนดให้แทน พร้อมทั้งประกาศยกเลิกการใช้หนังสือถือครองที่ดินเดิม โดย “โฉนดที่ดินฉบับแรกของไทยเป็นของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” ณ วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2444 โดยโฉนดที่ดินดังกล่าว ปัจจุบันตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านวัดยม อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
.
การสถาปนาระบบกรรมสิทธิ์แบบปัจเจกตามกฎหมายที่เกิดขึ้นในรัชสมัยของพระองค์นั้น เป็นการปรับเปลี่ยนรูปแบบความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจจากระบอบศักดินาเป็นระบอบทุนนิยม ที่ดินจึงกลายเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่มีราคาสูงขึ้น เพราะกรรมสิทธิ์ที่เด็ดขาดและชัดเจนสามารถใช้เป็นหลักทรัพย์อ้างอิงได้ ทำให้ทุกชนชั้นหันมาสนใจจับจองที่ดินมากขึ้นและเกิดเจ้าของที่ดินรายใหญ่ที่ไม่ได้ทำประโยชน์ในที่ดิน (Absentee Landlord) ซึ่งเป็นการเปลี่ยนที่ดินจากการเป็นปัจจัยการผลิต (Means of Production) ให้เป็นทรัพย์สิน (Commodity) และเนื่องจากรัฐบาลไม่ได้จำกัดการถือครองที่ดินจึงเป็นโอกาสของชนชั้นบรรดาศักดิ์ที่เข้ามาจับจองเป็นเจ้าของที่ดินรายใหญ่
.
2.การพระราชทานพระบรมราชานุญาตขุดคลอง แก่บริษัทขุดคลองแลคูนาสยาม
การลงทุนเกี่ยวกับที่ดินที่สำคัญที่สุดในยุคสมัยรัชกาลที่ 5 คือ กรณีบริษัทขุดคลองแลคูนาสยามที่ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตในการขุดคลองและคูนาบริเวณทุ่งหลวงระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำนครนายกซึ่งการขุดคลองนี้ บริษัทขุดคลองแลคูนาสยามได้รับอนุญาตขุดคลองจากรัฐบาลเป็นระยะๆรวมเป็นคลองทั้งสิ้นตามตามโครงการจำนวน 59 คลองเป็นระยะทางยาว 22,779 เส้น หรือ 1,136 กิโลเมตร คลอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 800,000 – 1,500,000 ไร่ ตามเงื่อนไขของสัญญาขุดคลองที่บริษัทได้ทำกับรัฐบาล บริษัทมีสิทธิที่จะขายกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้กับผู้หนึ่งผู้ใดได้ ตั้งแต่เริ่มโครงการขุดคลอง โดยพบว่าบริษัทจัดการแบ่งและขายที่ดินก่อนที่บริษัทจะได้ขุดคลอง บริษัทได้ประกาศชักชวนให้คนมาลงชื่อเพื่อจับจองที่ดินของบริษัท รวมถึงจ่ายเงินค่าที่ดินให้บริษัท เพื่อทำให้ผู้ซื้อมั่นใจในหลักฐานแสดงสิทธิ บริษัทจึงทำการออกหนังสือที่เรียกว่า ใบกรอก ใบตรอกหรือตั๋วกรอก เมื่อมีการชำระเงินในการขายที่ดินดังกล่าว อย่างไรก็ดี ผู้ซื้อยังไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่นั้นอย่างสมบูรณ์ จะมีได้ต่อเมื่อบริษัทขุดคลองเสร็จและรัฐบาลจัดการออกตราจองให้แก่บริษัท หรือให้แก่ผู้ซื้อ นับว่ามีผลเป็นครั้งแรกที่ทำให้เจ้านายซื้อที่ดินไว้เป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ โดยพบว่ามีเจ้านายรุ่นที่เป็นพระเจ้าน้องยาเธอ จนถึงพระเจ้าลูกยาเธอในรัชกาลที่ 5 เป็นกลุ่มลูกค้าสำคัญ ที่มีหลักฐานว่าได้ซื้อที่ดินจากบริษัทขุดคลองแลคูนาสยาม จำนวนตั้งแต่ 1,000 ไร่ขึ้นไปในเขตรังสิต ระยะปี พ.ศ. 2435 – 2443 เช่น พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นทิวากรวงศ์ประวัติ (ต้นราชกุลเกษมศรี) พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสรรพศาสตร์ศุภกิจ (ต้นราชสกุลทองแถม) พระเจ้าน้องยาเธอกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ (ต้นราชสกุลวรวรรณ) พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นอดิสรอุดมเดช (ต้นราชสกุลสุขสวัสดิ์) พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิชิตปรีชากร (ต้นราชสกุลคัคณางค์) พระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร (ต้นราชสกุลยุคล) พระเจ้าน้องยาเธอกรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดารังสิต (ต้นราชสกุลโสณกุล) คุณจอมมารดาแพรังสิต พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (ต้นราชกุลรพีพัฒน์) เป็นต้น
.
มูลเหตุสำคัญของการซื้อที่ดินของคนกลุ่มนี้เนื่องมาจากแรงจูงใจทางเศรษฐกิจ จากการขยายตัวของการผลิตและการค้าข้าวในช่วงทศวรรษ 2423 – 2443 ก่อให้เกิดการตื่นตัวลงทุนในที่ดิน มีการเก็งกำไรในธุรกิจการค้าที่ดิน และมีการสะสมที่ดินเพื่อให้เช่าอย่างแพร่หลาย แต่ชาวนาเช่าที่ดินกลับไม่สามารถซื้อหาที่ดินมาเป็นของตนเองได้ เนื่องจากมีสาเหตุสำคัญ คือ 1) บริษัทขายที่ดินเป็นแปลงขนาดใหญ่ เกินความสามารถของชาวนาที่จะซื้อที่ดิน, 2) การออกกฎหมายโฉนดที่ดิน ในปี พ.ศ.2444 มีผลยกเลิก พ.ร.บ.เก็บเช่านา ปีพ.ศ.2417 ที่ควบคุมป้องกันมิให้มีการจับจองที่ดินไว้มากเกินกว่าผู้จับจองจะทำได้ และ 3) กลุ่มผู้ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจ ผู้มีอำนาจหรืออิทธิพล เช่น พระราชวงศ์ ข้าราชการ พ่อค้า เป็นกลุ่มที่กว้านซื้อที่ดินขนาดใหญ่ๆ เพื่อเอาไว้เก็งกำไรที่ดินหรือให้เช่า
.
แหล่งอ้างอิง
1. https://www.silpa-mag.com/history/article_6630
2. อรทิพย์ เทสสิริ, 2524: น.153-157 อ้างใน วีรวัฒน์ อริยะวิริยานนท์,พุทธกาล รัชธร, แล ดิลกวิทยรัตน์, วิวัฒนาการของการปฏิรูปที่ดินในประเทศไทย: ศึกษาเฉพาะกรณีการออกกฎหมายปฏิรูปที่ดิน (ปี 2475-2518)
3. “ประวัติคลองรังสิต: การพัฒนาที่ดินและผลกระทบต่อสังคม พ.ศ. 2431 – 2457”, สุนทรี อาสะไวย์, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2530: หน้า 68 – 69.
4. “ร้อยปีรังสิต : การศึกษาในมิติประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจและสังคม” โดย สุนทรี อาสะไวย์ และ เรืองวิทย์ ลิ่มปนาท ใน ร้อยปีคลองรังสิต โครงการวิจัยนำร่องเฉลิมฉลองวโรกาสกาญจนาภิเษก สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2539: น.20, 22-23. เข้าถึงที่ http://tiwrmdev.haii.or.th/…/100yrs-rangsit/chapter2.pdf
“ประวัติคลองรังสิต: การพัฒนาที่ดินและผลกระทบต่อสังคม พ.ศ. 2431 – 2457” โดย สุนทรี อาสะไวย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2530: หน้า 99-102