ใครเป็นเจ้าของที่ดินในโมร็อกโก

ค่ำคืนที่ผ่านมา ประเทศโมร็อกโกได้จารึกประวัติศาสตร์ โดยกลายเป็นทีมแรกจากทวีปแอฟริกา ที่ผ่านเข้าไปเล่นในรอบรองชนะเลิศฟุตบอลโลกได้สำเร็จ หลังพลิกล็อกปราบ โปรตุเกส 1-0 โดยจะเข้าไปพบกับ ฝรั่งเศส ประเทศเจ้าอาณานิคมโมร็อกโกในอดีต จากผลงานในทัวร์นาเมนต์นี้ ทำให้ทั้งผู้ที่ติดตามฟุตบอลและผู้คนทั่วไป เริ่มรู้จักประเทศในทวีปแอฟริกาตะวันตกเฉียงเหนืออย่างหนาหู ทีมงาน Land Watch Thai จึงอยากเชิญชวนทุกท่านไปรู้จักกับประเทศโมร็อกโกเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะด้านการบริหารจัดการที่ดินของประเทศโมร็อกโก ที่มีกฎหมายควบคุมและอำนวยความสะดวกในการกระจายที่ดินอย่างเท่าเทียมกัน 

ราชอาณาจักรโมร็อกโก (Kingdom of Morocco) ตั้งอยู่ในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปแอฟริกา โมร็อกโกมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเหมือนกับประเทศไทย พระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน คือ สมเด็จพระราชาธิบดีโมฮัมเหม็ดที่ 6 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 18 มีพื้นที่ประมาณ 710,850 ตารางกิโลเมตรและประชากรกว่า 35,276,786 คน

หลังการได้รับเอกราชของโมร็อกโกในปี พ.ศ. 2499 ปัญหาสำคัญในช่วงเวลานั้นคือความเหลื่อมล้ำในการครอบครองที่ดินระหว่างฟาร์มขนาดใหญ่กับฟาร์มของครอบครัวในแบบดั้งเดิมซึ่งมักมีขนาดเล็ก จึงนำไปสู่การปฏิรูปที่ดินเพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านที่ดิน

จากมาตราการทางกฏหมายนำไปสู่การเวนคืนที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในปี พ.ศ. 2516 โมร็อกโกได้บังคับใช้กฏหมายที่โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่เป็นของชาวต่างชาติหรือนิติบุคคลที่ไม่ใช่ชาวโมร็อคโกคืนให้แก่รัฐทั้งหมด หากตั้งอยู่นอกเขตเมือง โดยกฎระเบียบนี้ยังคงห้ามไม่ให้ชาวต่างชาติได้มาซึ่งที่ดินเพื่อการเกษตรหรือที่ดินที่มีอาชีพเกษตรกรรมโดยชาวต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล โดยระบุว่านิติบุคคลจะถูกพิจารณาว่าเป็นชาวต่างชาติหากชาวโมร็อกโกไม่ได้เป็นเจ้าของทั้งหมด

สิทธิการใช้ที่ดินในที่ดินส่วนรวมสามารถมอบให้ได้โดยผู้นำเผ่า (โดยทั่วไปจะมอบให้กับสมาชิกเผ่าเท่านั้น) และโดยเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการเลือกตั้งซึ่งปกครองสิทธิ์ในทรัพยากร ตลอด 50 ปีที่ผ่านมา แนวปฏิบัติในพื้นที่ของชนเผ่าคือการยอมรับสิทธิการใช้งานถาวรสำหรับสมาชิกชนเผ่าที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมในพื้นที่ของชนเผ่าที่แบ่งโซนเพื่อการเพาะปลูก กรรมสิทธิ์ในที่ดินของชนเผ่าเป็นของชนเผ่า และสิทธิที่ให้แก่สมาชิกของชนเผ่าโดยทั่วไปกำหนดโดยตำแหน่งทางสังคม ความสามารถในการลงทุนในที่ดิน และอำนาจทางการเมือง

ประมาณ 42% ของที่ดินของโมร็อกโกถือครองโดยสิทธิแบบชนเผ่า รัฐเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ส่วนรวม ที่ดินของชนเผ่า และสมาชิกของชนเผ่าแต่ละคนมีสิทธิเก็บกินผลประโยชน์เหล่านั้นได้ ตามธรรมเนียมแล้วการแบ่งปันในที่ดินของชุมชนนั้นส่งต่อไปยังสมาชิกในครอบครัวที่เป็นผู้ชายที่มีอายุมากกว่า 16 ปี ซึ่งทำให้ ผู้หญิงโสด แม่หม้าย ผู้หย่าร้าง และผู้ไม่มีบุตร ไม่สามารถครอบครองที่ดินได้

เมื่อโมร็อกโกเริ่มเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ ความพยายามในการแปรรูปและพัฒนาที่ดินเหล่านี้จึงเพิ่มขึ้นในราวปี พ.ศ. 2547 โดยมีการเรียกร้องมาตลอด 10 ปี จนในที่สุดสตรีกลุ่มชาติพันธุ์ Sulaliyyate ในโมร็อกโกมีสิทธิในที่ดินเท่าเทียมกัน โดยเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ.2557 รัฐได้แจกจ่ายที่ดินจำนวน 860 แปลงให้ชายและหญิงเท่าๆ กัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามอย่างต่อเนื่องในการแปรรูปที่ดินทั่วประเทศ

อีกทั้งรัฐยังให้ความสำคัญในการยกระดับภาคการผลิตสินค้าเกษตรโดยดำเนินการพัฒนาภายใต้ “Green Morocco Plan” มาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2551 เพื่อส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพทางการเกษตรแนวใหม่ที่มีเป้าหมายในการสร้างรายได้ในภาคการเกษตรและผลักดันภาคการเกษตรให้มีการเติบโตอยู่ที่ 19 % ของ GDP 

นอกจากผลงานในสนามฟุตบอลของประเทศโมร็อกโก ที่โดดเด่นเป็นอย่างมากในฟุตบอลโลก 2022 นี้ ผลงานการพัฒนาและบริหารจัดการที่ดินของประเทศโมร็อคโคก็โดดเด่นไม่แพ้กัน เป็นประเทศที่พัฒนาการจัดการที่ดินที่คำนึงถึงความหลากหลายของสิทธิในที่ดิน เคารพสิทธิของชนเผ่า อีกทั้งยังมีการกระจายการถือครองที่ดินไปยังผู้ที่เข้าไม่ถึงที่ดินอย่างผู้หญิงได้อย่างเท่าเทียม 

อ้างอิง