แถลงการณ์เนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลก
เมืองจะเจริญไม่ได้ ถ้าปราศจากคนจน
สิทธิที่อยู่อาศัย คือสิทธิมนุษยชน
ตามที่องค์การสหประชาชาติ ได้ประกาศให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมของทุกปี เป็นวันที่อยู่อาศัยโลก เพื่อให้ประชาคมโลกเห็นความสำคัญของปัญหาความไม่มั่นคงในด้านที่อยู่อาศัย
ความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัย และการไร้ที่อยู่อาศัย เป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้คนจำนวนมาก ต้องประสบกับความยากจน และห่างไกลจากการมีคุณภาพชีวิตที่ดี ในประเทศไทย จำนวนผู้เดือดร้อนในที่อยู่อาศัย ที่ปรากฎอยู่ในแผนแม่บทที่อยู่อาศัย 20 ปี ของกระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ พบว่ามีประชาชนราว 2.7 ล้านครัวเรือน ที่เป็นกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่อยู่ในเมือง และในชนบท ที่ไม่มีศักยภาพในการเข้าถึงที่อยู่อาศัยที่มั่นคง สาเหตุสำคัญที่ทำให้คนจำนวนมากต้องถูกเบียดขับออกจากชุมชน ถูกไล่รื้อออกจากที่อยู่อาศัยและที่ทำกินเดิม คือการเข้ามาของการพัฒนา ที่บังคับคนในพื้นที่ต้องเสียสละ เสียสละให้กับการลงทุนในโครงการต่าง ๆ ของทั้งทุนภายในประเทศ ทุนข้ามชาติ และโครงการพัฒนาของรัฐเอง อาทิ การให้สัมปทานในแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ การลงทุนของอุตสาหกรรมการเกษตรขนาดใหญ่ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง และสาธารณูปโภค การประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ต่าง ๆ เป็นต้น โดยมุ่งหวังมูลค่าทางเศรษฐกิจ และไม่รับผิดชอบต่อประชาชนในพื้นที่ ไม่รับผิดชอบต่อสภาพแวดล้อม วิถีวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ต้องถูกทำลายลง
เครือข่ายสลัม 4 ภาค ร่วมกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ดำเนินการสร้างพื้นที่รูปธรรมการพัฒนาโดยชุมชน กระจายอยู่ทั่วประเทศ สร้างวิถีชุมชนที่มีความสมดุลและยั่งยืน และได้นำเสนอมาตรการในเชิงนโยบาย และกฎหมายต่อรัฐบาล ที่จะสร้างหลักประกันให้กับคนทุกคนในสังคมไทย ได้เข้าถึงการมีหลักประกันขั้นพื้นฐานที่จะสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดี และนำสู่การลดความเหลื่อมล้ำในสังคมลงได้ ข้อเสนอของเครือข่ายสลัม 4 ภาค และขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการให้บรรลุผล มี 4 ด้าน ดังนี้
การจัดการด้านที่ดินเพื่ออยู่อาศัยและทำกิน และพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ
- สนับสนุน ส่งเสริม ในการนำที่ดินที่ไม่ใช้ประโยชน์ของรัฐ มาแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย และที่ทำกิน ให้กับประชาชนตามแผนแม่บทที่อยู่อาศัย 20 ปี ของรัฐบาล และมีมาตรการที่ชัดเจน โดยในระยะสั้นให้เป็นมติคณะรัฐมนตรี และในระยะยาวให้บรรจุไว้ในร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. ……………
- นำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ให้มีมติคณะรัฐมนตรี คุ้มครองพื้นที่ชุมชนที่ได้ยื่นขอใช้สิทธิที่ดินตามระเบียบคณะอนุกรรมการประสานงานจัดให้มีโฉนดชุมชน ให้สามารถใช้ชีวิตอย่างปกติ และเข้าถึงการพัฒนาขั้นพื้นฐาน
- ทบทวนนโยบายการจัดที่ดินชุมชน ของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) จากการอนุญาตให้ใช้ที่ดินตามกฎหมายของหน่วยงาน เป็นการรับรองสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรที่ดินอย่างมีส่วนร่วมตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ
- พื้นที่ที่มีการประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษ , ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) รัฐบาลต้องดูแล ปกป้อง และคุ้มครองวิถีชีวิต พื้นที่เกษตรกรรมของชุมชน ให้คงวัฒนธรรม เอกลักษณ์เฉพาะถิ่น ไม่ให้เกิดผลกระทบ หรือเกิดการล่มสลายของชุมชน
การสนับสนุนการจัดสร้างบ้าน และชุมชน
- พิจารณาอนุมัติปรับเกณฑ์การสนับสนุนงบประมาณโครงการบ้านมั่นคง ที่ใช้มาเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว จาก 80,000 บาทต่อครัวเรือน เพิ่มเป็น 100,000 บาทต่อครัวเรือน เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจสังคมในปัจจุบัน โดยนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติ
- โครงการพัฒนาของรัฐ ที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน เช่น โครงการรถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง รัฐบาลต้องจัดให้มีงบประมาณในการแก้ปัญหาด้านที่อยู่อาศัยให้กับชุมชนที่ได้รับผลกระทบ โดยมีมติคณะรัฐมนตรีจัดงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อแก้ปัญหาเป็นการเฉพาะ เช่นกรณีการแก้ปัญหาชุมชนริมคลองลาดพร้าว
สิทธิด้านสวัสดิการทางสังคม
- คนไทยทุกคนต้องเข้าถึงการรักษาพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
- ตั้งกองทุนรักษาพยาบาลสำหรับคนไทยที่รอการพิสูจน์สิทธิ และตกหล่นทางทะเบียนราษฎร์ ที่ยังเข้าไม่ถึงสิทธิการรักษาพยาบาล
- ต้องออกกฎหมายบำนาญแห่งชาติ เพื่อสร้างหลักประกันทางรายได้ขั้นพื้นฐานของผู้สูงอายุ
- การจัดงบอุดหนุนเลี้ยงดูเด็กเล็ก เป็นสิทธิที่เด็กทุกคนต้องได้รับอย่างทั่วถึง ถ้วนหน้า
เนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลก เครือข่าวสลัม 4 ภาค หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ข้อเสนอดังกล่าวจะได้รับการใส่ใจจากรัฐบาล และดำเนินการให้ประสบผลโดยเร็ว และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการเลือกตั้งจะมีขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งจะนำสู่การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญต่อวิถีชีวิตคนจน และคนในสังคมไทย
สามัคคีคนสลัม รวมพลังคนจน
เครือข่ายสลัม 4 ภาคและขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม
2 ตุลาคม 2561
หนังสือถึงองค์การสหประชาชาติ
วันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2561
เรื่อง สถานการณ์ และข้อเสนอต่อการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย เนื่องในวาระวันที่อยู่อาศัยโลก
เรียน อังตอนีอู กูแตรึช เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ
ตามที่องค์การสหประชาชาติได้ประกาศให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคม ของทุกปี เป็นวันที่อยู่อาศัยโลก เพื่อให้ประชาคมโลกเห็นความสำคัญของปัญหาความไม่มั่นคงในด้านที่อยู่อาศัย และมีมาตรการในการสร้างหลักประกันด้านความมั่นคงในที่อยู่อาศัยให้กับประชาชน
สถานการณ์ปัญหาความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัย และการทำให้คนจำนวนมากไร้ซึ่งที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะคนยากจนในประเทศกำลังพัฒนา ต้องถูกผลกระทบจากโครงการพัฒนา และการลงทุนด้านต่าง ๆ ของทั้งทุนภายในประเทศ ทุนข้ามชาติ และโครงการพัฒนาของรัฐเอง ได้ส่งผลต่อผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ ต้องถูกเบียดขับออกจากที่อยู่อาศัย และที่ทำกินเดิมเป็นจำนวนมาก อาทิ การให้สัมปทานในแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ การลงทุนของอุตสาหกรรมการเกษตรขนาดใหญ่ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง การประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ต่าง ๆ เป็นต้น โดยมุ่งหวังมูลค่าทางเศรษฐกิจ ไม่รับผิดชอบต่อประชาชนในพื้นที่ ไม่รับผิดชอบต่อสภาพแวดล้อม วิถีวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ต้องถูกทำลายลง ในประเทศไทย จำนวนผู้เดือดร้อนในที่อยู่อาศัย ที่ปรากฎอยู่ในแผนแม่บทที่อยู่อาศัย 20 ปี ของกระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ พบว่ามีประชาชนราว 2.7 ล้านครัวเรือน ที่เป็นกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่อยู่ในเมือง และในชนบท ไม่มีศักยภาพในการเข้าถึงที่อยู่อาศัยที่มั่นคง
และในปีนี้วันที่อยู่อาศัยโลกตรงกับวันจันทร์ที่ 1 ตุลาคม ทางองค์การสหประชาชาติได้กำหนดหัวข้อหลัก “Municipal Solid Waste Management” หรือ “การบริหารจัดการขยะในชุมชน” : เพื่อเป็นเมือง “Waste-Wise Cities” ซึ่งหากจะให้ดูตามเจตนารมณ์การประกาศวันที่อยู่อาศัยโลก เพื่อให้ตระหนักถึงสิทธิที่อยู่อาศัย ในปีนี้องค์การสหประชาชาติไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด ในขณะที่สถานการณ์การเบียดขับคนจนออกจากพื้นที่มีความรุนแรงขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายที่ทำให้ประเด็นที่อยู่อาศัยลดความสำคัญลง
เครือข่ายสลัม 4 ภาค เห็นว่าองค์การสหประชาชาติ ต้องมุ่งเน้นตามเจตนารมณ์ที่ต้องการขจัดปัญหาการไร้ที่อยู่อาศัย และรณรงค์ให้ผู้ที่ประสบปัญหาความเดือดร้อนทุกข์ยาก ได้มีที่อยู่อาศัย และชุมชนที่ความมั่นคง องค์การสหประชาชาติต้องทำงานอย่างหนัก กับรัฐบาลนานาประเทศ และนักลงทุนเอกชน ให้รับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น และกระตุ้นเตือนให้ทุกภาคส่วน ร่วมกันสร้างสังคมโลกที่มีการแบ่งปัน เอื้ออาทร และสันติสุข ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่เป็นวาระขององค์การสหประชาชาติ
ขอแสดงความนับถือ
นางวารินทร์ ดำรงค์พันธุ์
ประธานเครือข่ายสลัม 4 ภาค