ผอ.สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน เยือนที่ประชุม P-move ทำความเข้าใจ เพื่อขับเคลื่อนการกระจายถือครองที่ดินร่วมกัน
วันนี้ 25 กันยายน พ.ศ.2561 เวลา 15.00 น. ณ มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย ถนน รามคำแหง 39 นายขจรศักดิ์ เจียรธนากุล ผู้อำนวยสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน(องค์กรมหาชน)หรือบจธ.และคณะ เข้าร่วมพูดคุยกับตัวแทนชาวบ้านในขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม(P-move) โดยการเข้าพบปะครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อทำความคุ้นเคยและทำความรู้จักกับพี่น้องชาวบ้านในเครือข่ายประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม เนื่องจากนายขจรศักดิ์ เจียรธนากุล เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน(องค์กรมหาชน) เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
โดยนายขจรศักดิ์ เจียรธนากุล ได้พูดคุยกับตัวแทนชาวบ้านในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงาน ตามวิสัยทัศน์ของสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน(องค์กรมหาชน) ที่มีเป้าหมายเพื่อเป็นกลไกในการช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจน โดยมีนวัตกรรมในการบริหารจัดการที่ดิน ลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมอย่างยั่งยืน นอกจากนี้นายขจรศักดิ์ เจียรธนากุล ยังได้เสนอวิสัยทัศน์และความคิดริเริ่มใหม่ๆในฐานะผู้อำนวยการ(องค์กรมหาชน)อีกด้วย โดยกล่าวกับตัวแทนชาวบ้านในที่ประชุมว่า การดำเนินงานของสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดินนั้น การแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินทำกินเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ อาจจะต้องขยายไปให้ถึงเงินทุนในการส่งเสริมอาชีพและการจัดหาช่องทางการตลาด เพื่อสนับสนุนการผลิตบนที่ดินทำกินที่ชาวบ้านได้รับมาจากการดำเนินงานของสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดินเป็นต้น
โดยปัจจุบันทางสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน กำลังเร่งรัดดำเนินการโครงการต้นแบบบริหารจัดการที่ดินแบบครบวงจร ที่อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา และโครงการนำร่องธนาคารที่ดินในพื้นที่นำร่อง 5 ชุมชน เพื่อสร้างความสำเร็จและนำไปสู่การยอมรับของรัฐบาลในที่สุด เนื่องจากสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดินจัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาให้จัดตั้งองค์การมหาชนขึ้นเรียกว่า “สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) ซึ่งต้องได้รับการประเมินและปฏิบัติตามแนวทางการควบคุมดูแลกิจการของคณะกรรมการองค์การมหาชนตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๖๑
จากนั้นนายขจรศักดิ์ เจียรธนากุล ได้รับฟังเสียงสะท้อนการทำงานและการดำเนินการของสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) จากตัวแทนชาวบ้านในขบวนประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม(P-move) ซึ่งตัวแทนชาวบ้านได้แสดงความคิดเห็นว่าที่ผ่านมาการดำเนินงานมีปัญหาอยู่ ในเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน มิใช่เพียงแค่ในระดับคณะกรรมการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน แต่ที่สำคัญ คือการมีส่วนร่วมของประชาชนในคณะอนุกรรมการชุดต่างๆของสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน
เนื่องจากการขับเคลื่อนการระดับปฏิบัติงานภาคประชาชนจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าไปมีส่วนร่วม ช่วยออกแบบ ช่วยกันคิด เพราะเป็นทั้งผู้มีปัญหาตัวจริงและเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทางนโยบายโดยตรง ทั้งนี้ตัวแทนชาวบ้านในเครือข่ายประชาชนเพื่อสังคมได้ยืนยันว่า มิได้มีความต้องการแสดงตัวเป็นเจ้าของสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน แต่อยากจะช่วยกันสร้างสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) ให้ผลการดำเนินงานกระจายประโยชน์ทางนโยบายต่อประชาชนทั้งประเทศอย่างแท้จริง
นอกจากนี้ตัวแทนชาวบ้านยังสะท้อนว่า บางครั้งปัญหาอุปสรรคก็เกิดจากหน่วยงานราชการท้วงติงเพราะไม่เข้าใจปัญหาในระดับคณะอนุกรรมการชุดต่างๆของสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดินอีก ในช่วงท้ายตัวแทนชาวบ้านยังเสนอว่า คนจนในเมืองซึ่งอาศัยอยู่ในชุมชนเมืองก็มีปัญหาและอยากได้รับการช่วยเหลือจากสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดินด้วยเช่นกัน เนื่องจากยังคงต้องเช่าที่อยู่อาศัยอยู่ และไม่มีความมั่นคงในชีวิต จึงต้องการให้ขยายเกณฑ์ความช่วยเหลือให้ครอบคลุมปัญหาของชุมชนเมืองด้วยเพราะปัจจุบันข้อบังคับของสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดินไม่ครอบคลุมถึงที่อยู่อาศัย แต่พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน นั้นยังเปิดโอกาสให้ขยายความช่วยเหลือในส่วนนี้ได้ ซึ่งนายขจรศักดิ์ เจียรธนากุล ผู้อำนวยสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน ได้ตอบว่า ขอโอกาสในการทำผลงานในเรื่องการแก้ไขปัญหาที่ดินเกษตรกรรมให้เป็นผลงานก่อน ซึ่งระหว่างนี้ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม(P-move) ก็เสนอว่าจะทำหนังสือเพื่อขอให้สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน(องค์กรมหาชน)แก้ไขข้อบังคับในประเด็นนี้ควบคู่ไปด้วย
ก่อนจะปิดประชุมนายขจรศักดิ์ เจียรธนากุล ยังได้กล่าวอีกว่า แนวคิดในลักษณะการจัดตั้งธนาคารที่ดินนั้นเกิดยากในประเทศไทย เพราะธนาคารต่างๆถูกควบคุมโดยกฎหมาย การปล่อยกู้ให้กับสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง ต้องกันเงินสำรองหนี้สูญ ทำให้ไม่ธนาคารไม่กำไร ต้องขอเงินกองทุนต่างๆจากรัฐบาล เพราะฉะนั้นการร่วมกันดำเนินการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดิน การสร้างธนาคารที่ดิน และการกำหนดเป้าหมายเพื่อเป็นกลไกในการช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจนของสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน จะเกิดขึ้นได้จากความร่วมมือกันของประชาชนและสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน ดังนั้นก็ขอให้ อย่าตึงเกินไปอย่าแข็งเกินไปในการทำงานร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนการกระจายถือครองที่ดินของประเทศไทย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
บจธ.จัดสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพรบ.ธนาคารที่ดิน